ไก่ขาเจ็บ เดินกะเผลก รบกวนใจในฟาร์มไก่
สาเหตุมาทั้งจากการจัดการหรือมาจากโรคติดเชื้อ แนวทางในการป้องกันและการรักษาควรทำอย่างไร
เพื่อลดปัญหาในฟาร์มและเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงที่ดี
ไก่ขาเจ็บป้องกันอย่างไร
ประเด็นไก่ขาเจ็บในไก่เนื้อแยกออกเป็นปัญหาจากการจัดการ เช่น ปัญหาสิ่งปูรองนอน พื้นเปียกชื้น เป็นปัจจัยโน้มนำทำให้ไก่ขาเจ็บ อีกปัญหาหนึ่งคือเกิดจากการติดเชื้อ ทั้งจากโรคไวรัส,แบคทีเรียหรือมัยโคพลาสม่า ส่วนในไก่ไข่มักเกิดมาจากการติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการจัดการมักไม่เป็นปัจจัยปัญหาเนื่องจากปัจจัยในเรื่องของน้ำหนักตัวที่น้อยกว่า
MS (Mycoplasma Synoviae) เป็นเชื้อมัยโคพลาสม่าที่มีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรีย การติดเชื้อส่งผลให้เกิดอาการขาเจ็บในไก่ การป้องกันเชื้อนี้สามารถใช้วัคซีนเชื้อเป็นในการป้องกันปัญหาโดยนิยมทำวัคซีนในไก่ไข่ อีกปัจจัยหนึ่งคือระบบป้องกันโรค (Biosecurity) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการป้องกันเชื้อเข้าสู่ตัวไก่ เราสามารถวิเคราะห์ปัญหาว่าเกิดจาก MS โดยดูจากระยะเวลาในการเกิดโรคโดยเป็นลักษณะที่เกิดอาการแบบไม่เฉียบพลัน รวมทั้งส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ในกรณีฟาร์มพบปัญหา MS ภายในฟาร์ม ถ้าในไก่ไข่มักพบปัญหาในช่วงไก่รุ่นซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่ให้ผลผลิตจึงสามารถใช้ยาในการรักษาการติดเชื้อได้ การเลือกใช้ยาควรเลือกใช้ยาที่มีความไวยาต่อเชื้อ เช่น tylosin tilmicosin โดยให้ยาต่อเนื่องอย่างน้อย 5 วันเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา ส่วนไก่ที่มีอาการรุนแรงให้ทำการคัดทิ้งออกจากฝูง