Open/Close Menu ผู้นำทางด้าน แอนิมัล เฮลท์

Pest Control series EP. 1

หนู สัตว์พาหะตัวร้ายที่นำพาโรคมาสู่ฟาร์ม

 

หนูเป็นสัตว์ฟันแทะ พฤติกรรมโดยทั่วไปมักชอบอยู่กันเป็นฝูง กินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ และมีระบบประสาทสัมผัสที่ถูกพัฒนาค่อนข้างดี โดยดวงตาสามารถมองเห็นได้ดีในเวลากลางคืน จึงมักพบหนูออกหากินในเวลากลางคืน หากที่ฟาร์มพบหนูในเวลากลางวันนั่นหมายความว่าหนูมีปริมาณมากจนออกหากินแค่ในตอนกลางคืนไม่เพียงพอ และหนูยังมีลิ้นที่สามารถแยกแยะสารพิษได้ แม้จะมีปริมาณสารพิษเพียงน้อยนิดก็ตาม

อีกทั้งหนูเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว โดยหนูจำนวนเพียงคู่เดียวสามารถแพร่พันธุ์ได้มากกว่า 1,250 ตัวต่อปี หนูสามารถกินอาหารได้วันละ 10% ของน้ำหนักตัว และสร้างความเสียหายต่ออุปกรณ์ต่างๆภายในฟาร์ม ซึ่งจะทำให้ฟาร์มเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ และเรื่องสำคัญที่สุด นั่นคือ หนูเป็นพาหะนำโรคของฟาร์มในหลายๆโรค เช่น African swine fever, Classical swine fever, Swine dysentery, Leptospirosis และ Salmonellosis

การควบคุมหนูสำหรับฟาร์ม มีหัวใจสำคัญคือ ต้องมีการจัดการสิ่งแวดล้อมร่วมกับการวางเหยื่อทางกายภาพและเคมีไปด้วยกัน โดยสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

  1. สำรวจประชากรของหนูที่อยู่ในฟาร์ม โดยจะเน้นค้นหารังหนู จำนวนหนู และ ชนิดของหนูที่มีอยู่ในฟาร์ม เพื่อวางแผนเลือกชนิดของเหยื่อกำจัดหนู
  2. ควบคุมหนูโดยแบ่งเป็นการจัดการ 3 ด้าน ดังนี้
    • ด้านสิ่งแวดล้อม: รักษาความสะอาดทั้งภายในและภายนอกโรงเรือน ป้องกันเศษอาหารตกหล่นภายในโรงเรือน ปิดรูช่องที่คาดว่าจะเป็นทางของหนู ตัดหญ้ารอบโรงเรือน และใช้ถังขยะแบบมีฝาปิด
    • ด้านกายภาพ: วางกรงดักหนู หรือ วางกาวดักหนู
    • ด้านเคมี: วางเหยื่อพิษ โดยมีข้อควรระวัง คือ ต้องใช้ถุงมือเพื่อป้องกันกลิ่นเหงื่อจากมือคนไปติดเหยื่อ ซึ่งจะทำให้หนูไม่กล้าเข้ามากินเหยื่อ
  3. ควรมีการประเมินผลจำนวนหนูในฟาร์มในช่วงแรกอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อประเมินว่าจำนวนหนูลดลงหรือไม่ หนูกินเหยื่อหรือมีการดื้อต่อเหยื่อที่เลือกใช้หรือไม่

ภาพแสดงกล่องใส่เหยื่อพิษในฟาร์ม และตำแหน่งวางรอบโรงเรือนเลี้ยง เพื่อควบคุมหนูที่เป็นสัตว์พาหะสำคัญ

ทีมงานวิชาการ iTAC

For customer        02-937-4888