กลไกการสูญเสียความร้อน Heat loss mechanisms ของลูกสุกร
การสูญเสียความร้อนจากร่างกายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกสุกรไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ยิ่งหากลูกสุกรสูญเสียความร้อนจากร่างกายในช่วง 1-3 วันแรกหลังคลอดยิ่งทำให้เกิดผลกระทบสุกรมากขึ้น เนื่องจากลูกสุกรแรกคลอดยังไม่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายได้ดี และยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ทันที เราจึงต้องมีการจัดการให้ลูกสุกรแรกคลอดสูญเสียความร้อนออกจากร่างกายให้น้อยที่สุด ซึ่งกลไกการสูญเสียความร้อนหรือ Heat loss mechanisms มีหลายวิธี ดังนี้
1.Evaporation หรือการระเหย ความร้อนจะออกจากร่างกายลูกสุกรโดยการระเหยการเป็นไอของของเหลว เช่น น้ำ เยื่อเมือก หรือเหงื่อ ของเหลวที่ติดมากับลูกสุกรหลังคลอดจะนำความร้อนออกจากตัวลูกสุกร ดังนั้นเราต้องรีบเช็ดเมือกออกจากตัวลูกสุกรทันที
2.Radiation หรือการแผ่รังสี ความร้อนจะออกจากร่างกายลูกสุกรโดยการแผ่รังสีความร้อนไปยังบริเวณพื้นที่ที่เย็นกว่าโดยรอบ เช่น ผนังคอก หรืออากาศโดยรอบโดยไม่ต้องเกิดการสัมผัส ดังนั้น ไฟกก เป็นตัวช่วยสำคัญในการเป็นพื้นที่ให้ความอบอุ่นกับลูกสุกรหลังคลอด ทำให้เราต้องนำลูกสุกรแรกคลอดเข้ากกทันที รวมทั้งควรฝึกลูกสุกรให้นอนภายในกก และคอยช่วยลูกสุกรที่อ่อนแอให้เข้ากกอยู่เสมอ
3.Conduction หรือการเหนี่ยวนำ ความร้อนจะออกจากร่างกายลูกสุกรโดยการเหนี่ยวนำไปสู่ผิวสัมผัสที่เย็นกว่า เช่น พื้นคอก ผนังคอก หรือการแช่น้ำ เมื่อนำลูกสุกรเข้ากกแล้ว กกที่ดีต้องถูกเตรียม จัดวางวัสดุปูรองบนพื้นที่นอนของลูกสุกรให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้ลูกสุกรนอนสัมผัสกับพื้นคอกโดยตรง และต้องมั่นใจว่าวัสดุปูรองนั้นมีความแน่นหนามากพอที่จะไม่ให้ลูกสุกรสัมผัสกับพื้นที่เย็น สิ่งปูรองต้องเป็นฉนวนความร้อนที่ดีและควรมีให้พอเหมาะกับจำนวนลูกสุกร
4.Convection หรือการพาความร้อนออกจากร่างกายลูกสุกรโดยการนำพาของลมไปสู่บรรยากาศที่เย็นกว่า เมื่อนำลูกสุกรเข้ากก กกที่ดีต้องป้องกันลมได้รอบทิศทาง แม้อุณหภูมิใต้กกจะมีความเหมาะสมกับลูกสุกรแล้วแต่ลมยังสามารถพัดเข้ากกได้ลมก็จะพาความร้อนออกไปอยู่ดี
จากกลไกการสูญเสียความร้อนออกจากร่างกายของลูกสุกรเราจะเห็นได้ว่า กก มีความจำเป็น และสำคัญอย่างมากในการให้ความอบอุ่นกับลูกสุกร เราจึงควรเตรียมกกให้พร้อมก่อนที่ลูกสุกรจะคลอดเสมอ โดยดูจากกำหนดวันคลอด หรือ อาการใกล้คลอดของแม่สุกร