รู้ได้อย่างไรว่าโคเครียดจากความร้อน ? แล้วทำไมอากาศร้อน ถึงทำให้ผสมติดยาก ???
อุณหภูมิปกติที่โคอยู่สบาย-เหมาะสม คือ 4-25oC ในช่วงฤดูร้อน สิ่งที่มาพร้อมกันคือ “ภาวะความเครียดจากความร้อน” (Heat stress) ที่สัตว์ไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ทัน ทำให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงกว่าปกติ โดยเราสามารถประเมินระดับความเครียดจากความร้อนโค โดยใช้ตารางค่าดัชนีอุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์ (THI) เพียงนำค่าอุณหภูมิและความชื้นที่วัดได้ในโรงเรือนมาเทียบค่าและประเมินจากตาราง ว่าโคอยู่ในสภาวะเครียดในระดับใด
โดยทั่วไปความร้อนมาจาก 2 สาเหตุ
1.ความร้อนจากสภาพแวดล้อม
2.ความร้อนที่สัตว์สร้างขึ้น เช่น การเผาผลาญในร่างกาย, การหมักย่อยอาหาร, การเคลื่อนไหว
เราจึงเห็นว่าในฤดูร้อน สัตว์จะมีพฤติกรรมและระบบการทำงานในร่างกายเปลี่ยนไป เช่น หายใจถี่หอบ อ้าปาก น้ำลายไหล นอนพักลดลง กินอาหารลดลง กินน้ำมากขึ้น เกาะกลุ่มกันอยู่ในที่ร่ม/เย็น/แฉะ พฤติกรรมเหล่านี้บ่งชี้ว่าโคต้องเพิ่มการระบายความร้อน เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายให้คงที่มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ระบบภูมิคุ้มกันและปัญหาสำคัญพบบ่อย คือ การผสมติดที่ต่ำในฤดูร้อน
ผลกระทบในเพศผู้
o – ภาวะ heat stress สามารถทำให้อุณหภูมิภายในอัณฑะเพิ่มสูงขึ้น รบกวนการสร้างและเจริญของอสุจิ
o – ทำให้คุณภาพอสุจิลดลง รวมถึงพฤติกรรมความอยากผสมพันธุ์ลดลงเช่นกัน
ผลกระทบในเพศเมีย
o – ความเครียดและการกินอาหารที่ลดลง ทำให้สัตว์หลั่งฮอร์โมนเพศลดลงอย่างชัดเจน และหลั่งฮอร์โมนความเครียดมากขึ้น
o – คุณภาพของ follicle และ oocyte ต่ำลง ตัวอ่อนระยะแรกที่ไวต่อความร้อนจะแบ่งตัว – รอดชีวิต – ฝังตัวสำเร็จลดลง
o – โคมีพฤติกรรมทางเพศเปลี่ยนแปลงไป เช่น แสดงอาการเป็นสัดน้อยลง เป็นสัดไม่ชัดเจน หรือระยะเป็นสัดสั้นลง รวมถึงอาจกลับสัดไม่ตรงรอบ
แนวทางจัดการ เพื่อเพิ่มโอกาสผสมติดดีขึ้น
o – เพิ่มช่วงสังเกตการเป็นสัดให้ถี่ขึ้น
o – วางโปรแกรมฮอร์โมน
o – รักษาอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ช่วงก่อน-หลังผสม
o – เพิ่มการใช้แร่ธาตุสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์และภูมิคุ้มกัน เช่น วิตามิน A E ,ซีลีเนียม โดยเน้นเสริม เพิ่มให้ในกลุ่มโคที่มีภาวะความเครียดสูง เช่น โคก่อนคลอด โคคลอดใหม่ ช่วงให้ผลผลิตสูง หรือกลุ่มรอผสมพันธุ์