Open/Close Menu ผู้นำทางด้าน แอนิมัล เฮลท์

APP ภัยร้ายของฟาร์มช่วงหน้าฝน

ทุกคนคงทราบกันว่า หน้าฝนเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมากที่สุดช่วงหนึ่งของปี ผลกระทบของหน้าฝนต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูนั้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงหมูในหลายๆด้าน เช่น ปัญหาน้ำ การปนเปื้อนของเชื้อโรคในน้ำผิวดิน ทำให้สุกรเกิดอาการท้องเสีย ปัญหาด้านคุณภาพอาหารจาก สารพิษเชื้อราในอาหาร อาหารบูดและเสื่อมสภาพเร็ว ทำให้ส่งผลต่อการกินได้ของสุกร และสุดท้าย ด้านปัญหาสุขภาพของสุกร ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด ASF, FMD, โรคฉี่หนู หรือ PED ที่มักมากับหน้าฝนแล้ว โรคระบบทางเดินหายใจอย่าง APP (เอพีพี) ก็ถือเป็นโรคสำคัญที่ส่งผลรุนแรงต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดความเสียหายในหมูขุนอย่างกว้างขวางเช่นกัน

APP เป็นเชื้อแบคทีเรีย ที่ส่วนใหญ่มักก่อโรคในสุกรขุน โดยปกติแล้วเชื้อตัวนี้อาศัยอยู่ที่ต่อมทอนซิลในร่างกายสุกรโดยไม่ได้ก่อให้เกิดอาการป่วย แต่หากเมื่อมีการนำสุกรที่เป็นพาหะของเชื้อเข้าฝูง หรือช่วงหน้าฝนที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและอากาศในภายโรงเรือน ทำให้เกิดปัญหาการระบายอากาศภายในโรงเรือนไม่ดี ความชื้นสูง แก๊สแอมโมเนียสูง หรือปัญหาด้านการจัดการ การเลี้ยงสุกรอย่างหนาแน่น ก็จะทำให้เชื้อในร่างกายเพิ่มจำนวนและก่อโรคได้ ซึ่งความรุนแรงของการติดเชื้อ APP ไม่ใช่แค่ตัวแบคทีเรีย แต่เป็นสารพิษที่ตัวเชื้อแบคทีเรียสร้าง ทำให้เกิดการอักเสบของปอดและเยื่อหุ้มปอดอย่างรุนแรง สุกรแสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ หอบ หายใจกระแทก เลือดออกจมูก ไข้สูง ผิวหนังใบหูบริเวณหน้า ใต้ท้องและก้นมีสีม่วงคล้ำ และ ก่อให้เกิดการตายเฉียบพลันได้ในสุกร

หากสุกรมีอาการป่วยตาย ด้วยสาเหตุจากเชื้อ APP ควรมีการแก้ไขปัญหาดังนี้

  1. ยืนยันการติดเชื้อ APP
    • ผ่าซากดูรอยโรคที่ช่องอก มักพบการอักเสบของเนื้อปอด มีฝีหนอง หรือก้อนเลือดสีแดงคล้ำ มีแผ่นหนองหรือเยื่อสีขาวคลุมผิวปอดและผนังช่องอก
    • ส่งปอดจากหมูที่มีปัญหา ตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการ เพื่อแยกชนิดเชื้อ และการทดสอบความไวของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพ
    • การตรวจเลือดหา ภูมิคุ้มกันต่อสารพิษ Apx IX ด้วยวิธี ELISA
  2. รักษาตัวป่วย
    • แยกตัวป่วยมีอาการไปไว้คอกพิเศษ
    • ฉีดยาปฏิชีวนะ คอกที่พบสุกรป่วย เพื่อกำจัดเชื้อภายในร่างกายสุกร
    • ผสมยาในอาหารเพื่อรักษาโรค เป็นเวลา 7-10 วัน ทั้งนี้การเลือกใช้ยาต้านจุลชีพขึ้นกับประวัติการใช้ยาในฟาร์มที่ผ่านมา สภาพการตอบสนองของสุกรต่อการใช้ยาและผลการตรวจความไวรับต่อยาของเชื้อเอพีพีที่ระบาดในฟาร์มด้วย
    • คัดทิ้งสุกรที่แสดงอาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษา
  3. การควบคุมและป้องกันโรค
    • เลือกสุกรจากแหล่งที่ปลอดโรค มีการกักโรค และตรวจโรคก่อนเข้าฝูง
    • ปรับปรุงการจัดการ: All in – All out system, ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในโรงเรือน ให้มีการระบายอากาศที่ดี ความชื้นไม่สูงเกินไป, ไม่เลี้ยงหมูหนาแน่นเกินไป
    • มีระบบป้องกันทางชีวภาพ พ่นยาฆ่าเชื้อ อาบน้ำ เปลี่ยนชุด เปลี่ยนรองเท้าบูท ก่อนเข้าฟาร์ม
    • การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ด้วยชนิดที่ถูกต้องเหมาะสม และมีการใช้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปริมาณเชื้อภายในโรงเรือน และภายในฟาร์ม
    • การวางโปรแกรมวัคซีน APP
    • ผสมยาในอาหารก่อนช่วงอายุที่จะเกิดโรค 2 สัปดาห์ เพื่อตัดวงจรโรค

 

ทีมวิชาการ iTAC

Write a comment:

*

Your email address will not be published.


The reCAPTCHA verification period has expired. Please reload the page.

For customer        02-937-4888