ทำความรู้จักกับโรคผิวหนังอักเสบในลูกหมู (Greasy pig disease)
โรคผิวหนังอักเสบ (Greasy pig disease หรือ Exudative Epidermitis) ในลูกสุกร เป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังที่มีเชื้อสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus hyicus ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมบวก โดยปกติเชื้อ S. hyicus จะสามารถพบได้ตามผิวหนังของสุกรที่โตเต็มวัยอยู่แล้วและไม่ทำให้เกิดอาการป่วย แต่จะก่อโรคในลูกสุกรเล้าคลอดเป็นหลัก โดยลักษณะของอาการที่มักจะพบได้แก่ ผิวหนังอักเสบ ผิวหนังลอกหลุด มีลักษณะเป็นมันเยิ้ม บางครั้งการอักเสบอาจรุนแรงจนเกิดการติดเชื้อทั่วร่างกายและทำให้ลูกสุกรตายได้ (Zimmerman et al., 2012)
สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่มีโอกาสทำให้เจอโรคได้มากขึ้น (Foster, 2012) ได้แก่
- บาดแผลที่เกิดจากการบาดเจ็บจากการกัดกัน การไม่ตัดหรือกรอฟัน สิ่งปูรองหรือผนังคอกที่ไม่เรียบ หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้ผิวหนังมีการสัมผัสกับเชื้อได้ง่ายขึ้น
- การติดเชื้อไวรัสที่โน้มนำให้เกิดการติดเชื้อตัวนี้แทรกซ้อน
- สุขลักษณะการเลี้ยงที่ไม่ดี การระบายอากาศที่ไม่ดี สภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง (Foster, 2012)
สำหรับวิธีการรักษา เนื่องจากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย การรักษาด้วยใช้ยาปฏิชีวนะจึงได้ผลตอบสนองเป็นอย่างดี โดยเชื้อแบคทีเรีย S. hyicus จะมีความไวต่อยาในกลุ่ม penicillins เช่น Amoxycillin และการทำการรักษาแบบ early treatment คือ ให้การรักษาตั้งแต่สุกรเริ่มแสดงอาการเพียงเล็กน้อย ยังไม่รุนแรงจะทำให้ผลการรักษาออกมาดี นอกจากนี้ควรมีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อบนตัวสุกรชนิดที่ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อ ลดปริมาณเชื้อที่ผิวหนัง และทำให้ผิวหนังแห้งเร็วขึ้นด้วย