Open/Close Menu ผู้นำทางด้าน แอนิมัล เฮลท์

#ASPRUMSTORY #42
#แหล่งความรู้ทางด้านสัตว์เคี้ยวเอื้องโดยเอเอสพีรูมิแนนท์
ตอน “การขุนโคนมเพศผู้ ลักษณธเนื้อที่ได้เป็นอย่างไร”
โดย : นายอัครสิทธิ์ โอภาษี ฝ่ายขายและวิชาการ ทางด้านสัตว์เคี้ยวเอื้อง เอเอสพี รูมิแนนท์ ในเครือเวทโปรดักส์

ประเทศไทยมีการเลี้ยงโคเนื้อ เพื่อผลิตเนื้อโคคุณภาพสำหรับการบริโภคในภูมิภาคต่างๆ มาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบันแนวโน้มการผลิตมีปริมาณลดลงและไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยในต่างประเทศได้มีการใช้โคนมเพศผู้ขุน เพื่อผลิตเป็นเนื้อโคคุณภาพมาค่อนข้างยาวนาน เนื่องจากโคนมเพศผู้มีต้นทุนทางด้านพันธุกรรมที่ต่ำ แต่ก็สามารถให้คุณภาพเนื้อที่มีความนุ่มและมีปริมาณไขมันแทรกปานกลางได้

รวมทั้งยังมีงานวิจัยภายในประเทศไทยที่รายงานว่าโคนมเพศผู้พันธุ์โฮลสไตน์-ฟรีเชี่ยน มีความสามารถในการสะสมไขมันแทรกภายในกล้ามเนื้อได้ดีกว่าโคเนื้อเมืองร้อนของประเทศไทย (สุริยะ, 2012) ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยสามารถผลิตโคนมเพศผู้ได้มากกว่าหนึ่งแสนตัว ดังนั้นการเลือกโคนมเพศผู้มาขุน จึงเป็นแนวทางที่จะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อโคคุณภาพได้

📌 การคัดเลือกโคนมเพศผู้เข้าขุน

ลูกโคนมแรกเกิดควรได้น้ำนมเหลืองจากแม่โคอย่างเพียงพอ และเมื่ออายุได้ 1.5-2 ปี น้ำหนัก 350-400 กิโลกรัม จึงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการขุนได้ โดยปกติจะใช้ระยะเวลาในการขุน 8-12 เดือน จนได้น้ำหนักประมาณ 600 กิโลกรัม ซึ่งไม่ควรขุนโคนมจนอายุมากกว่า 3 ปี เนื่องจากจะทำให้เกิดเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่มีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เนื้อมีความเหนียวและไม่นุ่ม (สุรชัย, 2003)

📌 การจัดการอาหาร (สำหรับโคนมเพศผู้ขุน)

1️⃣ สัดส่วนอาหารข้นต่ออาหารหยาบ ควรจะอยู่ที่ 70:30 และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 80:20 หรือ 90:10 ในช่วงท้ายของการขุน โดยไม่ควรให้อาหารพลังงานสูงเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากโคนมเพศผู้ตอนที่ได้รับอาหารพลังงานสูงจะเสี่ยงต่อการสะสมไขมันพอกหนาบริเวณรอบกล้ามเนื้อสันนอกและทำให้โคอ้วนเกินไป (Schaefer, 2005)

2️⃣ รูปแบบการให้อาหาร สามารถให้อาหารแบบแยกระหว่างอาหารข้นและอาหารหยาบ หรือผสมให้พร้อมกันในรูปแบบของอาหารผสมครบส่วน (TMR) ซึ่งการให้อาหารแบบ TMR จะสามารถช่วยรักษาสมดุลของระดับกรด-ด่างภายในกระเพาะรูเมนได้ดีกว่า ส่งผลให้จุลินทรีย์ภายในระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีกว่า

3️⃣ คุณภาพของอาหารข้น สามารถเลือกใช้วัตถุดิบได้อย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่ปัจจัยทางด้านต้นทุนราคาในขณะนั้น และในส่วนของอาหารหยาบ สามารถเลือกใช้หญ้าหลากหลายชนิด รวมทั้งเศษเหลือและผลพลอยได้จากอุตสาหกรรม โดยจะต้องคำนึงถึงความสามารถในการใช้ประโยชน์ได้ต่อร่างกายสัตว์ด้วย

📌 ลักษณะและคุณภาพเนื้อของโคนมเพศผู้ขุน

ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในเนื้อสดและเนื้อย่างของโคนมเพศผู้ขุน (62.12% และ 59.51% ตามลำดับ) มากกว่าโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน (37.88% และ 40.49% ตามลำดับ) (คงปฐม, 2019)

ในส่วนของคุณภาพเนื้อ จะเห็นได้ว่าค่อนข้างมีความหลากหลาย (ดังแสดงในตาราง) ทั้งนี้ขึ้นอยู่ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม การเลี้ยงและการให้อาหารร่วมด้วย ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า หากมีการจัดการอาหารที่ดี จะช่วยส่งเสริมให้ผลผลิตเนื้อจากการขุนโคนมเพศผู้มีคุณภาพเนื้อที่ดีและใกล้เคียงกับการขุนโคเนื้อหลากหลายสายพันธุ์ได้เช่นกัน

กดเพิ่มเพื่อ “ASP Ruminant” official account เพื่อสอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์และติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวงการสัตว์เคี้ยวเอื้อง ผ่านทางลิงค์นี้ค่ะ https://lin.ee/Z8tJPWD
#คุณภาพเนื้อ
#วัวนมเพศผู้
#ASPRuminant
#ผู้จัดจำหน่ายเวชภัณฑ์และสารเสริมในอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง

📌 แหล่งอ้างอิง :

คงปฐม กาญจนเสริม และคณะ. 2019. ลักษณะซาก คุณภาพเนื้อ และความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อโคนมเพศผู้และโคกำแพงแสนเพศผู้ขุน. วารสารเกษตรพระจอมเกล้า. 37(2): 313-323

ศิรวัจน์ ปิณฑะดิษ. 2020. วิทยานิพนธ์หัวข้อเรื่อง “ผลของปริมาณอาหารข้นที่ระดับต่างๆ ร่วมกับการให้กากลำต้นสับปะรดต่อสมรรถภาพการผลิต ลักษณะซาก คุณภาพเนื้อ และต้นทุนการขุนโคนมเพศผู้ตอน”. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 43-55

สุรชัย สุวรรรลี. 2003. การตลาดของโคเนื้อ กระบือ. แหล่งที่มา http://library.baac.or.th/9product/cow/การตลาดของโคเนื้อ.pdf

สุริยะ สะวานนท์. 2012. โคนมเพศผู้: ความเป็นไปได้ในการนำมาผลิตเนื้อโคคุณภาพ. ปศุสัตว์ เกษตรศาสตร์. 39(153): 32-40.

อมรรัตน์ วันอังคาร และคณะ. 2012. คุณภาพเนื้อของโคเนื้อพันธุ์ลูกผสมของไทยในตลาดค้าปลีก. การประชุมวิชาการงานเกษตรนเรศวร ครั้งที่ 10. 268-274

Schaefer, D.M. 2005. Yield and Quality of Holstein Beef. Managing and Marketing Quality Holstein Steers Proceeding. R. Tigner and J. Lehmkuhler (eds.), Wisconsin Agri-Service Association, Madison, pp. 161-174

CategoryASP, Article, BU, Ruminant

For customer        02-937-4888