
หลักการคัดพันธุ์สุกรเพื่อทดแทนภายในฟาร์ม By ทีมวิชาการไอแทค
การเลือกสุกรทดแทนในฝูงแม่พันธุ์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างมากต่อการกำหนดประสิทธิภาพของฟาร์มในอนาคต แต่กลับพบว่าฟาร์มส่วนใหญ่ ละเลยหรือให้ความสำคัญกับจุดนี้ค่อนข้างน้อย อาจเพราะขาดความรู้เกี่ยวกับหลักการคัดเลือกที่ถูกต้องและเหมาะสม หรืออาจเกิดจากไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน จึงไม่ได้มีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง บทความนี้จึงขอสรุปหลักเกณฑ์สำคัญในการคัดพันธุ์สุกร เพื่อเป็นแนวทางให้ฟาร์มสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในฟาร์มของตนเอง
ประโยชน์ของการคัดพันธุ์ที่ดี
- ฟาร์มได้แม่พันธุ์ทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์แท้ สองสาย แม่ระดับ GGP หรือ GP ที่มีลักษณะที่ดี ตรงตามคุณลักษณะของการเป็นแม่พันธุ์
- ฟาร์มมีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีจากแม่พันธุ์ที่ดี ให้ลูกดก อายุการใช้งานยาวนาน และไม่พบปัญหาสูญเสียจากพันธุกรรม เช่น ลูกพิการ ไส้เลื่อน รวมถึงถ่ายทอดประสิทธิภาพที่ดีไปยังหมูขุน โตเร็ว อัตราแลกเนื้อต่ำ
- ฟาร์มมีต้นทุนที่ต่ำลง จากความคุ้มค่าของการใช้แม่พันธุ์ได้เต็มประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียสิ้นเปลืองจากการคัดทิ้งแม่มีปัญหา แม่ให้ผลผลิตต่ำ หรือหมูสาวตกค้างใช้งานไม่ได้ ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนแฝงที่สำคัญของฟาร์ม
หลักการคัดพันธุ์สุกร
เพื่อให้การคัดเลือกสุกรมีประสิทธิภาพสูงสุด และลดภาระการเลี้ยงสุกรพันธุ์ของฟาร์ม เนื่องจากการเลี้ยงสุกรพันธุ์มีความแตกต่างจากสุกรขุน เพราะต้องการดูแลเอาใจใส่และการจัดการที่พิเศษกว่า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นแม่พันธุ์ ทั้งในส่วนของการทำวัคซีน พื้นที่การเลี้ยง ฟาร์มจึงควรมีการคัดพันธุ์ 2 ครั้ง สุกรตัวที่ไม่ผ่านการคัดเลือก แยกออกเลี้ยงเป็นสุกรขุนได้เลย
- การคัดพันธุ์ที่อายุ 10 สัปดาห์ : จะเป็นการคัดเบื้องต้นจากสุขภาพและการเจริญเติบโตที่ดี
- สุกรต้องมีสุขภาพดี สมบูรณ์แข็งแรง ไม่ป่วย แคระแกรน หรือมีลักษณะผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ไม่มีรูทวาร ไส้เลื่อน
- น้ำหนักควรมากกว่า 25 กิโลกรัมขึ้นไป
- การคัดพันธุ์ที่อายุ 18 สัปดาห์ : คัดเลือกจากลักษณะภายนอกที่ดีและประวัติรายตัว
2.1) คัดจากประวัติ โดยให้เลือกสุกรจากแม่ที่ให้ลูกดก (ลูกมีชีวิต 14 ตัวขึ้นไป) เป็นอันดับแรก และทุกตัวที่ผ่านการคัดพันธุ์ ควรเกิดจากแม่ที่ให้ลูก ไม่น้อยกว่า 12 ตัว
2.2) สุขภาพและน้ำหนักได้ตามเกณฑ์ มากกว่า 70 กิโลกรัมขึ้นไปที่อายุ 18 สัปดาห์ และมีสุขภาพแข็งแรง
2.3) ผิวหนัง ไม่มีลักษณะด่าง หรือมีสีที่ต่างจากมาตรฐานสายพันธุ์ รวมถึงไม่มีรอยโรคผิวหนัง
2.4) ลักษณะโครงสร้างขาหน้าและขาหลัง
– มุมหน้า/หลัง : ขาทั้งสองข้างตรงเสมอกัน แข็งแรงมั่นคง ไม่มีขาข้างใดสั้น/ยาวกว่า ไม่งอเข้าด้านในหรือโค้งออกด้านนอก
– มุมข้าง : ขาต้องยืนอย่างมั่นคง ตรงข้อขาไม่งอไปด้านหน้าหรือด้านหลัง
– ข้อเท้าพาสเทิร์น (Pasterns) : ต้องลาดเอียงพอดี ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป
2.5) กีบ มีลักษณะเป็นกีบคู่ ควรมีขนาดใหญ่และเท่ากัน มีร่องระหว่างกีบที่พอดีไม่มากหรือน้อย จนเกินไป ไม่มีรอยแตก แผลหรือหนองบริเวณกีบ
2.6) เต้านม ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 12 เต้า (ครบคู่ 6 คู่) และสมบูรณ์ครบทั้งหมด สามารถใช้งานได้ทุกเต้า ไม่มีลักษณะหัวนมบอด หัวนมแซม หัวนมกลับ ที่ทำให้ลูกสุกกรดูดนมไม่ได้
2.7) อวัยวะเพศเมีย มีขนาดเหมาะสมไม่เล็กจนเกินไป มีลักษณะเป็นรูปใบโพธิ์ ส่วนปลายไม่งอนขึ้น
รูปลักษณะโครงสร้างขาหน้า-ขาหลังที่ปกติและผิดปกติแบบต่างๆ
*A National System for Recording Conformation Traits: March 2001
รูปลักษณะกีบผิดปกติแบบต่างๆ
รูปลักษณะหัวนมบอด ใช้งานไม่ได้