โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) by Dr.Peen iTAC
ปัจจุบันมีการระบาดของโรคฝีดาษลิงในหลายประเทศล่าสุดคือ 20 ประเทศ ใน 5 ทวีป โรคนี้มีถิ่นกำเนิดในประเทศคองโก ค้นพบครั้งแรกในลิงปี ค.ศ.1958 หลังจากนั้นพบการระบาดในคนปี ค.ศ. 1970 เชื้อไวรัสอยู่ในกลุ่ม Poxviridae หรือ orthopoxvirus โดยมีสายพันธุ์หลัก 2 สายพันธุ์ ได้แก่ Congo Basin และ West African แต่สายพันธุ์ Congo Basin จะมีความรุนแรงมากกว่า
ไวรัสฝีดาษลิงเป็นไวรัสที่สามารถแพร่ระบาดในสัตว์ตระกูลลิง รวมทั้งในสัตว์ฟันแทะเล็ก เช่น หนู กระรอก กระต่าย กระแต รวมถึงสามารถติดคนด้วย เชื้อสามารถแพร่กระจายได้ง่าย ทางผิวหนัง การหายใจ สารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น น้ำลาย น้ำตา เหงื่อ หรือแพร่จากเสื้อผ้าของใช้ที่มีการสัมผัสเชื้อ โดยการติดคนสู่คนนั้นเกิดขึ้นได้หากคนมีแผลที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เชื้อก็จะสามารถเข้าสู่บาดแผลได้โดยตรง
ในคนจะพบแสดงอาการภายหลังการสัมผัสเชื้อประมาณ 2 สัปดาห์ โดยจะแสดงอาการไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย เมื่อผ่านไป 3 – 4 วันจะพบต่อมน้ำเหลืองโต จากนั้นจะพบผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า ลำตัว เยื่อบุในส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น เยื่อบุในโพรงจมูก เยื่อบุแก้ม เยื่อบุเพดานปาก เป็นต้น หลังจากนั้นก็จะกลายเป็นตุ่มหนอง และสามารถหายได้เองหลังจากผ่านไป 4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วย ในกรณีที่ยังไม่หายจากอาการป่วยอาจจะใช้ยาที่รักษาฝีดาษคน (smallpox) ชื่อว่า tecovirimat (ST-246) โดยคนที่ติดเชื้อต้องแยกกักตัวจากบุคคลอื่นๆ
วัคซีนที่ใช้ลดความรุนแรงของโรคปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ ACAM2000 (Lived vaccine) ซึ่งไม่แนะนำให้ฉีดเนื่องจากสามารถพัฒนาเป็นโรคและแพร่กระจายเชื้อได้ ส่วนชนิดที่ 2 คือ MVA (Modified vaccinia Ankara) เป็นวัคซีนที่ฉีดเพียง 1 ครั้ง และสามารถป้องกันการเกิดอาการ หรือ ลดความรุนแรงของโรคได้ถึง 85%
ประเทศไทยได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขขึ้นเพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ แนวโน้ม พร้อมทั้งคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจจะทำให้มีเชื้อเข้ามาในประเทศโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวหรือนักเดินทางที่มีจากกลุ่มประเทศ หรือทวีปที่มีการติดเชื้อในคนแล้ว
ข้อมูลอ้างอิง: Thaniyavarn T.