Open/Close Menu ผู้นำทางด้าน แอนิมัล เฮลท์

แมลงวัน ภัยร้ายในฟาร์มสุกร ตอนที่ 3 ตอนจบ

ในตอนที่ 1 กับ 2 เราได้คุยถึงการควบคุมแมลงวันด้วยการใช้หลักสุขาภิบาล  วิธีการควบคุมและกำจัดแมลงวันด้วยการใช้สารเคมีกันไปแล้ว  ส่วนวันนี้เรามาดูการพิจารณาถึงความเหมาะสมของสารเคมีที่จะนำใช้งานกันครับว่า เราจะมีหลักในการพิจารณาเลือกใช้สารเคมีกลุ่มไหน ใช้อย่างไรกันบ้าง

  • การควบคุมหนอนแมลงวันในแหล่งเพาะพันธุ์

ในฟาร์มหากเรามีการจัดการสุขาภิบาลที่ไม่ค่อยดี  เราจะพบว่ามีหลายจุดที่กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หนอนแมลงวัน เช่น ขยะเปียกตามจุดต่างๆ โรงเก็บมูลสุกร ถังเก็บรกและซากสุกร บ่อทิ้งซาก  เป็นต้น โดยทั่วไปการควบคุมและกำจัดจะใช้สารเคมี 2 กลุ่ม คือ

1.1) สารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต  เช่น Trichlorfon, Fenitrothion, Diazinon, Dichlorvos

1.2) สารกลุ่มยับยั้งการเจริญเติบโต (Insect Growth Regulators; IGRs) เช่น Diflubenzuron, Cyromazine, Pyriproxyfen การใช้งานต้องพ่นให้ทั่วถึงและเปียกลึกลงไปในผิวแหล่งเพาะพันธุ์ 10-15 ซม. และควรระวังเรื่องสารกลุ่มนี้อาจไปทำลายศัตรูตามธรรมชาติของแมลงวันได้ อีกทั้งการใช้บ่อยๆอาจทำให้เกิดการพัฒนาความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงได้

2)  การพ่นสารกำจัดแมลงฤทธิ์ตกค้างที่แหล่งเกาะพัก (Residual treatment of resting-sites)

วิธีนี้ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้นเพราะแมลงวันมีความสามารถในการพัฒนาการต้านทานกับวิธีนี้ได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ และควรใช้ภายในอาคารเพื่อป้องกันการสลายตัวเมื่อถูกแสงแดด หรือฝนชะล้าง  สารเคมีกลุ่มนี้ได้แก่

2.1) กลุ่มไพรีทรอยด์  เช่น Alpha-cypermethrin, Bifenthrin, Cypermethrin, Cyfluthrin, Deltamethrin, Lambda-cythalothrin, Zeta-cypermethrin

2.2)  กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต  เช่น  Diazinon, Fenitrothion

2.3) กลุ่มคาร์บาเมต เช่น Bendiocarb เป็นต้น การเลือกใช้ให้ดูจากราคา ความเป็นพิษ ความจำเพาะของอากาศ พื้นผิวของแต่ละพื้นที่ และความต้านทานของแมลงวัน

3) การใช้สารกำจัดแมลงชุบวัสดุแขวน

เนื่องจากพฤติกรรมของแมลงวันที่ชอบเกาะพักวัสดุที่แขวนในแนวดิ่งมากกว่าแนวราบ และมักเกาะอยู่ในร่มมากกว่ากลางแจ้ง  วิธีการนี้จึงนิยมนำมาประยุกต์ใช้หลากหลายเพราะทำได้ง่าย  ราคาถูก  มีฤทธิ์ตกค้างอยู่ได้นานและการพัฒนาความต้านทานเป็นไปได้ค่อนข้างช้ากว่าการพ่นสารเคมี แต่ควรใช้วิธีการนี้ก่อนถึงฤดูแพร่พันธุ์  วิธีการใช้งานทำได้โดยใช้เชือกหรือวัสดุอื่นๆ ชุบน้ำตาลผสมสารที่ทำให้มีสีดำ ผสมด้วยสารเคมี เช่น Diazinon, Fenitrothion , Pirimiphos-methyl ความเข้มข้น 8-10% และเปลี่ยนทุก 2-3 เดือน

4) การใช้เหยื่อพิษ (Toxic baits)

เป็นวิธีที่ใช้ก่อนที่จะมีการสังเคราะห์สารอินทรีย์กำจัดแมลง  การทำเหยื่อพิษมีหลายวิธี อาทิเช่น

4.1) Dry scatter bait  เป็นเหยื่อชนิดแห้งเคลือบด้วยน้ำตาล หรืออาหารชนิดอื่นผสมสารเคมี  แล้วนำมาวางกระจายใส่ภาชนะให้แมลงวันดูดกิน เช่น Diazinon, Trichloefon, Propoxur

4.2) Liquid sprinkle bait เป็นเหยื่อชนิดน้ำผสมด้วยน้ำตาล หรือสารล่ออื่นๆที่เป็นรูปแบบน้ำ แล้วนำไปฉีดพ่นบนพื้นผิวหรือผนังให้แมลงวันมาดูดกิน เช่น Dichlorvos, Trichloefon

4.3) Liquid dispenser bait เป็นเหยื่อชนิดน้ำผสมสารกำจัดแมลงใส่ในภาชนะ เช่น ขวด ถ้วย กระบอก แล้วมีวัสดุดูดซับเพื่อให้แมลงวันมาดูดซับกิน เช่น Dichlorvos, Trichloefon

4.4)Viscous paint-on bait  เป็นเหยื่อชนิดของเหลวข้นเหนียวผสมสารเคมีแล้วนำไปทาพื้นผิวให้แมลงวันมาดูดกิน โดยทั่วไปมักใช้สารเคมีผสมกากน้ำตาล เช่น Methomyl, Trichloefon

5) การพ่นแบบฟุ้งกระจายครอบคลุมพื้นที่กว้างเพื่อกำจัดตัวเต็มวัย

สารเคมีกลุ่มนี้ได้แก่  Cyfluthrin, Deltamethrin, Permethrin, Zeta-cypermethrin, Diazinon, Dichlorvos, Malathion, Pirimiphos methyl  เนื่องจากแมลงวันเป็นแมลงบินขนาดใหญ่ ว่องไว บินได้รวดเร็ว การเลือกใช้วิธีการนี้ต้องใช้เครื่องพ่นแบบ Mist Blower ที่มีละอองประมาณ 50-100 ไมครอน เพื่อไม่ให้ละอองฝอยเล็กเกินไปจนฟุ้งในอากาศไม่ตกลงสู่พื้นผิวที่แมลงวันพักเกาะ  อาจใช้สารเคมีสูตรผสมที่มีฤทธิ์สลบสูงหรือสารเสริมฤทธิ์กลุ่ม piperonyl  butoxide จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยแก้ปัญหาแมลงวันต้านทานสารเคมีบางกลไกได้

แมลงวันเป็นหนึ่งในสัตว์พาหะที่มีความสำคัญต่อการกระจายเชื้อโรคภายในฟาร์ม  การควบคุมและกำจัดแมลงวันจึงเป็นงานสำคัญและสิ่งที่ทุกฟาร์มไม่ควรละเลย  วิธีการและสารเคมีที่ใช้ในการควบคุมกำจัดได้นำเสนอแก่ท่านผู้อ่านมาแล้ว 3 ตอนสามารถตามอ่านย้อนหลังกันได้นะครับ  และหวังว่าเกร็ดความรู้ที่นำมาฝากคงมีประโยชน์ให้ผู้อ่านนำไปปรับใช้กับฟาร์มได้บ้างนะครับ แล้วพบกันใหม่กับสาระดีๆที่นำมาฝากในครั้งหน้าครับ

 

เครดิตข้อมูล : กลุ่มกีฎวิทยาและการควบคุมแมลงนำโรค สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง

 

CategoryiTAC, Article

For customer        02-937-4888